การจัดการความยั่งยืนมิติสิ่งแวดล้อม
บริษัทยังคงยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม แม้ว่าบริษัทประกอบธุรกิจการให้บริการด้านการเงินก็ต้องใส่ใจกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและหาแนวทางในการป้องกันแก้ปัญหาเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ซึ่งประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การใช้พลังงาน การใช้น้ำ การสร้างขยะ ของเสียและมลพิษ รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ บริษัทได้จัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัย ชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ รวมถึงความร่วมมือกันในการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว ซึ่งสามารถดูรายละเอียดของนโยบายดังกล่าวบนเว็บไซต์ https://investor.ifscapthai.com หัวข้อ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ไฟล์ดาวน์โหลด
นโยบายความปลอดภัย สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม
ดาวน์โหลดผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
บริษัทมุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และปลูกจิตสำนึกให้พนักงานทุกระดับตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
การใช้ไฟฟ้า
ในปี 2567 บริษัทได้สานต่อการรณรงค์ให้พนักงานช่วยกันประหยัดไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยสื่อสารให้พนักงานทราบและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การแจ้งเตือนทางอีเมล การติดประกาศในสำนักงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้และปลูกฝังวัฒนธรรมการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการและกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อให้พนักงานนำไปปฏิบัติ ได้แก่
- เปลี่ยนหลอดไฟทั่วทั้งบริเวณพื้นที่สำนักงาน จากหลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent tube) เป็นหลอด Electric lamps LED จำนวน 280 หลอด
- กำหนดช่วงเวลาการปิดเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่เวลา 12.00 น. - 13.00 น.
- กำหนดการตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส
- ปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์และปิดไฟทุกดวงที่ไม่ได้ใช้งาน
- ถอดปลั๊กไฟอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานทั้งในและนอกเวลาทำการ
- การใช้หลอดไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบริเวณสำนักงานที่ได้มาตรฐาน มีฉลากประหยัดไฟ ตลอดจนการตรวจสภาพและซ่อมบำรุง
ปริมาณการใชไฟฟ้า (กิโลวัตต์-ชั่วโมง)
2566 | 2567 | เปลี่ยนแปลง (%) |
---|---|---|
212,576 | 178,605 | -15.98% |
ในปี 2567 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในองค์กรลดลง 33,971 กิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือร้อยละ 15.98 เมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากการใช้มาตรการประหยัดพลังงานดังกล่าวข้างต้นที่บริษัทดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่กำหนดให้ลดลงร้อยละ 3 ภายในระยะเวลา 5 ปี (2567 - 2571) อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเป้าหมายการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงร้อยละ 3 ภายในระยะเวลา 5 ปี และกำหนดมาตรการอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่ง
การใช้น้ำมันเชื้อเพลง
ในปี 2567 บริษัทมีรถยนต์ส่วนกลางสำหรับให้พนักงานใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทจำนวน 9 คัน พร้อมทั้งสานต่อการรณรงค์ให้พนักงานวางแผนการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดเวลาในการเดินทางและช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง โดยเน้นส่งเสริมให้ใช้การขนส่งสาธารณะสำหรับการนัดหมายในระยะทางใกล้ เช่น รถไฟฟ้า บริการรถแท็กซี่ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวช่วยสร้างวัฒนธรรมการเดินทางที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในหมู่พนักงาน และช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ปริมาณการใช้ไฟฟ้าน้ำมันเชื้อเพลิง (ลิตร)
2566 | 2567 | เปลี่ยนแปลง (%) |
---|---|---|
16,926 | 15,935 | -5.85% |
ในปี 2567 ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลง 991 ลิตร หรือร้อยละ 5.85 จากปีก่อน เป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและความร่วมมือของพนักงาน อย่างไรก็ตาม บริษัทจะพิจารณามาตรการเพิ่มเติมที่จะช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าหมายระยะยาวเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นศูนย์ภายในระยะเวลา 5 ปี (2567 - 2571) โดยเปลี่ยนรถยนต์ส่วนกลางของบริษัทให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดจำนวน 9 คัน ภายในปี 2571 เพื่อลดค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และส่งเสริมมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
การใช้น้ำ
บริษัทยังคงรณรงค์ให้พนักงานใช้น้ำประปาอย่างคุ้มค่าและประหยัดอย่างต่อเนื่อง และหมั่นตรวจสภาพอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน
ปริมาณการใช้น้ำประปา (ลูกบาศก์เมตร)
2566 | 2567 | เปลี่ยนแปลง (%) |
---|---|---|
479 | 570 | +19% |
ในปี 2567 ปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากปีก่อน ซึ่งเป็นการใช้น้ำภายในองค์กรตามปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเป้าหมายเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำประปาลงร้อยละ 3 ภายในระยะเวลา 5 ปี (2567 - 2571)
การใช้กระดาษ
บริษัทได้รณรงค์ให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของการลดการใช้กระดาษอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะและลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการผลิตกระดาษ โดยยังคงเน้นการปรับปรุงกระบวนการทำงานและการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว ดังนี้
- การใช้ระบบ e-Factoring เพื่อให้ลูกค้าสามารถยื่นเอกสารในรูปแบบออนไลน์ ลดการใช้เอกสารกระดาษในกระบวนการทำงาน
- พัฒนาและนำโปรแกรม Salesforce มาใช้เป็นโปรแกรมหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งช่วยลดการใช้กระดาษจากงานพิมพ์
- ส่งเสริมการจัดเก็บและแบ่งปันเอกสารในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลผ่านระบบคลาวด์หรือแพลตฟอร์มการทำงานออนไลน์
- สนับสนุนการแก้ไขเอกสารแบบเรียลไทม์ผ่านการแชร์ไฟล์งาน เพื่อลดการพิมพ์เอกสารในกระบวนการทำงานร่วมกัน
- เปลี่ยนการส่งเอกสารให้เป็นการส่งผ่านอีเมล หรือช่องทางออนไลน์แทนการส่งในรูปแบบกระดาษ
- รณรงค์ให้พนักงานพิมพ์เอกสารเท่าที่จำเป็นและคุ้มค่า
ปริมาณการใช้กระดาษ (รีม)
2566 | 2567 | เปลี่ยนแปลง (%) |
---|---|---|
955 | 890 | -6.81% |
ปี 2567 ปริมาณการใช้กระดาษลดลงจำนวน 65 รีม หรือร้อยละ 6.81 เกิดจากการปรับปรุงกระบวนการทำงานและการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการทำงาน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงและหาวิธีการลดปริมาณการใช้กระดาษ เพื่อช่วยสร้างสมดุลให้ธรรมชาติและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายเพื่อลดปริมาณการใช้กระดาษลงร้อยละ 3 ภายในระยะเวลา 5 ปี (2567 - 2571)
การจัดการขยะ
บริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะภายในองค์กร โดยได้สื่อสารและรณรงค์ให้พนักงานบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่สำนักงานเป็นส่วนใหญ่ อาทิ การคัดแยกขยะ ลดการใช้พลาสติก การใช้วัสดุอุปกรณ์สำนักงานอย่างคุ้มค่า การนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น เพื่อให้ขยะภายในองค์กรลดลงให้ได้มากที่สุด บริษัทได้เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณขยะตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งใช้เป็นปีฐานในการเปรียบเทียบกับปริมาณขยะในปีปัจจุบัน
ปริมาณขยะในองค์กร (กิโลกรัม)
2566 | 2567 | เปลี่ยนแปลง (%) |
---|---|---|
3,892 | 3,527 | -9.38% |
ในปี 2567 ปริมาณขยะภายในองค์กรลดลง 365 กิโลกรัม หรือร้อยละ 9.38 เป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการเพื่อรณรงค์ให้พนักงานช่วยกันคัดแยกขยะและลดการใช้พลาสติกดังกล่าวข้างต้น ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปทิ้งโดยรวมของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายในการลดปริมาณขยะในองค์กรลงร้อยละ 3 ภายในระยะเวลา 5 ปี (2567 - 2571)
โครงการ “ธนาคารขยะปันผล”
ในปี 2567 บริษัทได้จัดกิจกรรม CSR ภายใต้โครงการ “ธนาคารขยะปันผล” เพื่อกระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะที่เกิดขึ้นภายในองค์กรและรณรงค์ให้พนักงานทุกคนช่วยกันคัดแยกขยะตามหลัก 3R ได้แก่ การลดการเกิดขยะ (Reduce) นำของเสียกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำของเสียไปผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) บริษัทได้นำขยะที่คัดแยกไว้อย่างเป็นระบบ ส่งต่อไปยังโครงการคัดแยกขยะของอาคารสำนักงานลุมพินีทาวเวอร์ เพื่อนำไปขายต่อให้กับบริษัทผู้ให้บริการด้านการจัดการขยะ เพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างครบวงจร ทั้งในส่วนของการคัดแยก การจัดเก็บ การขนส่ง และการกำจัดขยะที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
นอกจากนี้โครงการ “ธนาคารขยะปันผล” ได้สร้างผลลัพธ์เชิงบวกทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและการเสริมสร้างจิตสำนึกให้กับพนักงาน ซึ่งการคัดแยกขยะและนำของเสียกลับมาใช้ใหม่สามารถช่วยลดภาระของโลกและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของบริษัทในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โครงการปลูกป่าชายเลน จังหวัดสมุทรสงคราม
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567 บริษัทได้จัดกิจกรรม CSR ภายใต้โครงการ “ปลูกป่าชายเลน” ณ ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งป่าชายเลนเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าและมีความสำคัญ ให้ประโยชน์อย่างมากทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์น้ำเศรษฐกิจ หากสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ ชาวท้องถิ่นก็มีรายได้เพิ่ม และที่สำคัญ ป่าชายเลนยังช่วยป้องกันการกัดเซาะพังทลายของหน้าดิน รักษาสมดุลแห่งชายฝั่งและบริเวณใกล้เคียง เป็นทั้งแหล่งศึกษาธรรมชาติ และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ
กิจกรรมในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันของผู้บริหารและพนักงานของบริษัท ซึ่งทุกปีบริษัทจะจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนในระยะยาว