นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน
การรับรองฐานะสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC)
ที่ประชุมคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ได้มีมติให้การรับรอง บริษัท ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน เป็นสมาชิกของแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตแล้ว เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 ครบกำหนดอายุการรับรอง 3 ปี ในวันที่ 17 สิงหาคม 2563
ที่ประชุมคณะกรรมการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) ได้มีมติให้การรับรอง บริษัท ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นสมาชิกของแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย โดยการรับรองดังกล่าวจะมีอายุ 3 ปี นับจากวันที่มีมติ ให้การรับรอง วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ครบกำหนดอายุการรับรอง 3 ปี ในวันที่ 30 ธันวาคม 2566
ที่ประชุมคณะกรรมการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) มีมติอนุมัติการต่ออายุการรับรองการเป็นสมาชิกของแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทยให้กับบริษัท ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นครั้งที่ 2 ระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2569
บริษัทมีเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม มีจรรยาบรรณโดยยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี ดังนั้น บริษัทจึงได้รณรงค์การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันให้บุคคลากรในองค์ทุกระดับ เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจและแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ
บริษัท ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (“บริษัท” หรือ “ไอเอฟเอส”) มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัทต่อต้านการคอร์รัปชันทุกรูปแบบด้วยตระหนักดีถึงภัยร้ายแรงของการคอร์รัปชันที่ทำลายการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน (“นโยบาย”) ฉบับนี้คือการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นส่วนเพิ่มเติมของจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท
- เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างสิ้นเชิง (Zero-Tolerance Policy)
- เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันมิให้บริษัท กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ตลอดจนบุคคลอื่น (เช่น บุคคลที่สาม) ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับไอเอฟเอส ฝ่าฝืนกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชัน รวมถึงกำหนดขั้นตอนการสอบทาน และการกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้
การคอร์รัปชัน (Corruption) หมายถึง การติดสินบนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ โดยการเสนอให้ การให้คำมั่นสัญญา การให้หรือการรับสินบน หรือการเรียกร้องผลประโยชน์เพื่อเป็นสิ่งจูงใจ (เช่น การให้ของขวัญหรือการบริการ การให้เงินสดหรือสิ่งของแทนเงินสด เงินให้กู้ยืม รางวัล ค่าตอบแทน การเลี้ยงรับรอง หรือผลประโยชน์อื่น) เพื่อให้บุคคลกระทำอย่างหนึ่ง อย่างใดที่ผิดกฎหมาย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดี ตลอดจนการใช้อำนาจที่ได้มาโดยตำแหน่ง หน้าที่ และ/หรือการใช้ข้อมูลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่การงานของบริษัทไปกระทำการใดๆ ที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง และ/หรือผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ หรือผลประโยชน์ใดโดยมิชอบแก่ตนเอง และ/หรือผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการกระทำใดๆ ที่ขัดหรือแย้งกับหลักจริยธรรม ยกเว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้
ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทไม่ให้เรียกร้อง ดำเนินการหรือยอมรับการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ทั้งทางตรง หรือทางอ้อม เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว เพื่อน และคนรู้จักโดยครอบคลุมธุรกิจในทุกประเทศและ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
บริษัทคาดหวังให้บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทอื่นที่บริษัทมีอำนาจในการควบคุม (ถ้ามี) ตัวแทน ตัวกลางทางธุรกิจ ผู้จัดจำหน่ายสินค้า/ผู้ให้บริการ และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องหรือกระทำในนามบริษัท ปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้
- คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการพิจารณาและอนุมัตินโยบาย รวมถึงกำหนดให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนของบริษัทได้ตระหนักดี และให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดจากการคอร์รัปชัน
- คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้
- สอบทานรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบการควบคุมภายใน ระบบการตรวจสอบภายในและ การบริหารความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการคอร์รัปชัน เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทมีความรัดกุม เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ และการรายงานทางการเงินของบริษัทเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป
- กำกับดูแลนโยบาย และมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทได้ปฏิบัติภาระหน้าที่ตามกฎหมาย และจริยธรรมที่กำหนดไว้
- ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้บริหารมีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำหนดให้มีระบบการส่งเสริม และการสนับสนุนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน เพื่อสื่อสารไปยังพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับและข้อกำหนดของกฎหมาย
- ผู้ตรวจสอบภายในหรือผู้ตรวจสอบภายในว่าจ้าง (Outsourced) มีหน้าที่และรับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงตามนโยบาย แนวทางปฏิบัติ อำนาจในการดำเนินการ ระเบียบปฏิบัติ กฎหมาย และข้อกำหนดของหน่วยงานที่เข้าไปกำกับติดตาม เพื่อให้มั่นใจว่ามีระบบควบคุมที่มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงจากการคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้น
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับนโยบายนี้ กรณีมีข้อสงสัยหรือพบเห็นการฝ่าฝืนนโยบายนี้ จะต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชา หรือผ่านช่องทางการรายงานที่กำหนดไว้ตามนโยบายและขั้นตอนการแจ้งการกระทำผิดและให้ความคุ้มครองผู้ร้องเรียน (Whistleblowing Policy and Procedures) ของบริษัท (โปรดอ้างอิงถึง นโยบายและขั้นตอนการแจ้งการกระทำผิดและให้ความคุ้มครองผู้ร้องเรียนของ ไอเอฟเอส ซึ่งได้จัดทำแยกไว้ต่างหาก)
6.1 บททั่วไป
- ไอเอฟเอส จะสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรทุกระดับเห็นความสำคัญและมีจิตสำนึก ในการต่อต้านคอร์รัปชัน รวมทั้งจัดให้มีการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการคอร์รัปชัน การให้หรือรับสินบนในทุกรูปแบบ
- แนวปฏิบัติในการต่อต้านการคอร์รัปชันนี้ ครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การสรรหาหรือการคัดเลือกบุคลากร การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม การประเมินผล การปฏิบัติงานและการให้ผลตอบแทนแก่พนักงาน โดยกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ มีหน้าที่สื่อสารทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติในกิจกรรมทางธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบ และควบคุมดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแนวปฏิบัตินี้
- กรรมการและผู้บริหารมีความรับผิดชอบต่อการนำมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันนี้ไปปฏิบัติ อีกทั้งยังให้การยอมรับและปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันนี้ด้วย
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ไอเอฟเอส ทุกระดับ ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้าน การคอร์รัปชันและจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ไอเอฟเอส ทุกระดับ พึงไม่ละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษาผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณของบริษัท ผ่านช่องทางต่างๆ ที่กำหนดไว้
- ไอเอฟเอส จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน หรือบุคคลอื่นใดที่แจ้งเบาะแสหรือหลักฐานเรื่องการคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับ ไอเอฟเอส รวมถึงบุคคลดังกล่าวที่ปฏิเสธต่อการกระทำ โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการคอร์รัปชัน ตามที่กำหนดไว้ในนโยบายและขั้นตอนการแจ้งการกระทำผิดและให้ความคุ้มครองผู้ร้องเรียน (Whistleblowing Policy and Procedures)
- ผู้ที่กระทำการคอร์รัปชัน ถือเป็นการกระทำผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยที่กำหนดไว้ รวมถึงอาจได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายด้วย
- ไอเอฟเอส ตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ ให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับบุคคลที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับไอเอฟเอส หรืออาจเกิดผลกระทบต่อบริษัทในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันฉบับนี้
- ไอเอฟเอส จะสอบทานแนวปฏิบัติและมาตรการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย และสภาพการดำเนินธุรกิจ
- เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดการคอร์รัปชัน กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของไอเอฟเอสทุกระดับต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังในเรื่องที่กำหนดไว้ในข้อ 6.3 ถึงข้อ 6.9 ของนโยบายนี้
6.2 แนวทางในการป้องกันการคอร์รัปชัน
- การกำหนดสภาพแวดล้อมการควบคุมที่ดี มุ่งเน้นความสำคัญของกระบวนการกำกับดูแล กิจการที่ดีในทุกระดับ โดยครอบคลุมการกำหนดบทบาทความรับผิดชอบต่อการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชัน และกำหนดหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณเพื่อเป็นแนวทางให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รวมถึงจัดให้มีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีคอร์รัปชัน อย่างเหมาะสม โดยผู้ร้องเรียนจะได้รับความคุ้มครอง
- การประเมินความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชัน ผู้บริหารของบริษัทจะต้องจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้วยตนเอง (CSA: Control Self- Assessment) ซึ่งครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการคอร์รัปชันอย่างสม่ำเสมอ และทบทวนมาตรการจัดการความเสี่ยงที่ใช้อยู่ให้มีความเหมาะสมที่จะป้องกันความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
- การกำหนดกิจกรรมการควบคุม มุ่งเน้นความสำคัญของกระบวนการควบคุมภายในและ การปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งต่างๆ ของบริษัท เพื่อบริหารจัดการเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชัน โดยมีการประเมินประสิทธิผลและความเหมาะสมของการควบคุมภายใน เพื่อปรับปรุงกฎระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งต่าง ๆ ของบริษัทให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถป้องกันการคอร์รัปชันได้อย่างทันท่วงที
- การอบรมและการสื่อสาร
กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน
กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนในบริษัทจะได้รับการสื่อสารให้รับทราบนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน รวมถึงการจัดให้มีการอบรมให้กับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายฉบับนี้ นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันรวมถึง การเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพิ่มเติมจะแสดงไว้ในเว็บไซต์ของบริษัท
บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทอื่นที่บริษัทมีอำนาจในการควบคุม (ถ้ามี) ตัวแทน ตัวกลางทางธุรกิจ ผู้จัดจำหน่ายสินค้า/ผู้ให้บริการ และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องหรือกระทำในนามบริษัท
บริษัทจะสื่อสารนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันให้แก่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทอื่นที่บริษัทมีอำนาจในการควบคุม (ถ้ามี) ตัวแทน ตัวกลางทางธุรกิจ ผู้จัดจำหน่ายสินค้า/ผู้ให้บริการ และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือกระทำในนามบริษัททราบ ตั้งแต่เริ่มต้นความสัมพันธ์ทางธุรกิจและในภายหลังตามความเหมาะสม ทั้งนี้ บริษัทสนับสนุนให้บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทอื่นที่บริษัทมีอำนาจในการควบคุม (ถ้ามี) ตัวแทน ตัวกลางทางธุรกิจ ผู้จัดจำหน่ายสินค้า/ผู้ให้บริการ และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องหรือกระทำในนามบริษัท ยึดมั่นในมาตรฐานการรับผิดชอบต่อสังคมเช่นเดียวกับบริษัท
- ติดตามและทบทวน ฝ่ายบุคคลและธุรการของบริษัทจะทบทวนนโยบายฉบับนี้ และเสนอให้คณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ หากมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งกำกับ และติดตามการนำนโยบายฉบับนี้ไปปฏิบัติและให้คำแนะนำต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากต้องมีการปรับปรุงใด ๆ ต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุด
6.3 การช่วยเหลือทางการเมือง
การช่วยเหลือทางการเมือง (Political Contribution) หมายถึง การให้การสนับสนุนทางการเงิน สิ่งของ และ/หรือการเข้าร่วมกิจกรรม ตลอดจนการส่งเสริมให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในนามของบริษัทเพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางธุรกิจการค้า ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการที่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานเข้าร่วมกิจกรรมตามสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แต่จะต้องไม่แอบอ้างความเป็นกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน หรือนำทรัพย์สิน อุปกรณ์ เครื่องมือใด ๆ ของบริษัทไปใช้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการใด ๆ ในทางการเมือง
ไอเอฟเอส มีนโยบายดำเนินธุรกิจอย่างเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ทางการเมืองหรือนักการเมืองมืออาชีพที่สังกัด พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง บริษัทจะไม่สนับสนุนทางการเงินหรือสิ่งของให้แก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกทางการเมืองใด ๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางการเมืองตามความหมายในวรรคแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับบริษัท เว้นแต่จะได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและต้องเป็นไปตามบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น และการที่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานเข้าร่วมกิจกรรมตามสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล จะต้องไม่แอบอ้างความเป็นกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน หรือนำทรัพย์สิน อุปกรณ์ เครื่องมือใด ๆ ของบริษัทไปใช้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการใด ๆ ในทางการเมือง
6.4 การบริจาคเพื่อการกุศล
การบริจาคเพื่อการกุศล (Charitable Contribution, Donations and Aid Grants) เป็นการบริจาคเงิน หรือสิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใด ให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลใด ๆ เพื่อสาธารณกุศล ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อบริษัท เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินโดยไม่มีผลตอบแทนที่มีตัวตน และอาจจะใช้เป็นข้ออ้างหรือเส้นทางสำหรับการคอร์รัปชัน และเพื่อไม่ให้การบริจาคเพื่อการกุศลมีวัตถุประสงค์แอบแฝง ไอเอฟเอส จึงกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศล กระบวนการสอบทาน และรายละเอียดการควบคุมไว้ดังต่อไปนี้
- การบริจาคนั้นต้องพิสูจน์ได้ว่า มีกิจกรรมตามโครงการเพื่อการกุศลดังกล่าวจริง และมีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้วัตถุประสงค์ของโครงการประสบผลสำเร็จ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริงหรือเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)
- การบริจาคนั้นต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นไปเพื่อการกุศลดังกล่าว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับบุคคลใด หรือหน่วยงานใด ยกเว้น การประกาศเกียรติคุณตามธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป เช่น การติดตราสัญลักษณ์ (Logo) การประกาศรายชื่อ ไอเอฟเอส ณ สถานที่จัดงาน หรือในสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
6.5 เงินสนับสนุน
เงินสนับสนุน (Sponsorships) เป็นวิธีการประชาสัมพันธ์ทางธุรกิจของบริษัททางหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากการบริจาคเพื่อการกุศล โดยอาจกระทำได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ตราสินค้า หรือชื่อเสียงของบริษัท ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่เนื่องจากเป็นการจ่ายเงินสำหรับการบริการหรือผลประโยชน์ที่ยากต่อการวัดผลและติดตาม เงินสนับสนุนยังอาจถูกเชื่อมโยงไปเกี่ยวกับการติดสินบน ไอเอฟเอส จึงกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเงินสนับสนุน กระบวนการสอบทาน และรายละเอียดการควบคุมไว้ดังต่อไปนี้
- เงินสนับสนุนนั้นต้องพิสูจน์ได้ว่า ผู้ขอเงินสนับสนุนได้ทำกิจกรรมตามโครงการดังกล่าวจริง และเป็นการดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้วัตถุประสงค์ของโครงการประสบผลสำเร็จ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง หรือเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)
- เงินสนับสนุนนั้นต้องพิสูจน์ได้ว่า การให้เงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดที่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ เช่น การให้ที่พักและอาหาร เป็นต้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับบุคคลใด หรือหน่วยงานใด ยกเว้น การประกาศเกียรติคุณตามธรรมเนียมธุรกิจทั่วไป
- ในการเป็นผู้ให้เงินสนับสนุน จะต้องจัดทำใบบันทึกคำขอ ระบุชื่อผู้รับเงินสนับสนุนและวัตถุประสงค์ของการสนับสนุนพร้อมแนบเอกสารประกอบทั้งหมดเสนอให้ผู้มีอำนาจอนุมัติของบริษัทพิจารณาอนุมัติตามระดับอำนาจอนุมัติของบริษัท
6.6 ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ และค่าใช้จ่ายอื่น
บริษัทตระหนักดีว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรทางธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของบริษัท พนักงานสามารถให้ หรือรับของขวัญ(Gifts) และ/หรือ การเลี้ยงรับรอง (Entertainment) และ/หรือการบริการต้อนรับ (Hospitality) และ/หรือในรูปค่าใช้จ่ายอื่น (Others) แก่/จากบุคคลใด ๆ ได้ หากเข้าเงื่อนไขทุกข้อ ดังต่อไปนี้
- ไม่เป็นการกระทำโดยตั้งใจ เพื่อครอบงำ ชักนำ หรือตอบแทนบุคคลใด ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบใด ๆ ผ่านการกระทำไม่เหมาะสม หรือเป็นการแลกเปลี่ยนอย่างชัดเจนหรือแอบแฝงเพื่อให้ได้มาซึ่ง การช่วยเหลือหรือผลประโยชน์
- เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- เป็นการให้ในนามบริษัท ไม่ใช่ในนามของพนักงาน
- ไม่เป็นของขวัญที่อยู่ในรูปของเงินสดหรือสิ่งเทียบเท่าเงินสด (เช่น บัตรของขวัญ หรือบัตรกำนัล)
- เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น การให้ของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตรุษจีน หรือปีใหม่ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปกติ
- ประเภทและมูลค่ามีความเหมาะสม และมอบให้ถูกต้องตามกาลเทศะ เช่น ในกรณีที่บริษัทอยู่ระหว่าง จัดให้มีการประกวดราคา พนักงานจะต้องไม่รับของขวัญ หรือ การเลี้ยงรับรอง หรือการบริการต้อนรับ จากบริษัทที่เข้าร่วมการประกวดราคานั้นๆ
- เป็นการให้อย่างเปิดเผยไม่ปกปิด
ทั้งนี้ พนักงานสามารถรับของขวัญซึ่งมีมูลค่าได้ไม่เกิน 5,000 บาท โดยให้พนักงานแจ้งหัวหน้าฝ่ายของตนรับทราบการรับของขวัญทุกชิ้น และให้แจ้งข้อมูลในแบบฟอร์มของขวัญ พร้อมทั้งนำส่งของขวัญให้แก่เลขานุการของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารจะเป็นผู้อนุมัติหรือตัดสินใจตามความเหมาะสม เพื่อนำไปจับสลาก หรือมอบให้พนักงานผู้นั้นเก็บไว้เอง
6.7 การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก
ค่าอำนวยความสะดวก (Facilitation Payment) หมายถึง ค่าใช้จ่ายจำนวนน้อยที่จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการตามกระบวนการ หรือเป็นการกระตุ้นให้ดำเนินการรวดเร็วขึ้น
ไอเอฟเอส ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกในรูปแบบใด ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยจะไม่ดำเนินการใด ๆ และไม่ยอมรับการกระทำใด ๆ เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ
6.8 การจ้างเจ้าหน้าที่รัฐ/พนักงานรัฐ
การจ้างเจ้าหน้าที่รัฐ/พนักงานรัฐ (Revolving Door) หมายถึง การที่มีบุคคลจากภาครัฐเข้าไปทำงานในภาคเอกชน หรือ บุคคลในภาคเอกชนเข้ามาทำงานด้านนโยบายในภาครัฐ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการทุจริตคอร์รัปชัน ในแง่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของตัวบุคคลที่มีบทบาทหน้าที่ในทั้งสององค์กร โดยทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ/พนักงานรัฐอาจทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างไม่เป็นกลาง หรือบุคลากรในภาคเอกชนอาจจะพยายามผลักดันให้นโยบายรัฐเอื้อประโยชน์แก่องค์กร ของตน ซึ่ง “เจ้าหน้าที่รัฐ” หมายความว่า
- ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
- พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ
- ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
- ให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ
(อ้างอิง: พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542)
ไอเอฟเอส ไม่มีนโยบายการจ้างงานเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ยังดำรงตำแหน่งในหน่วยงานภาครัฐ เข้าทำงานที่อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือเป็นการตอบแทนเพื่อแลกกับการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน แต่หากเห็นว่ามีความจำเป็นต้องว่าจ้างอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ/พนักงานรัฐ บริษัทได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
- กำหนดระยะเวลาเว้นวรรค (cooling-off period) 2 ปี สำหรับการแต่งตั้งอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ/พนักงานรัฐที่พ้นจากตำแหน่งหรือผู้ที่เคยทำงานให้กับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยตรง
- มีกระบวนการตรวจสอบประวัติผู้สมัครว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ซึ่งกำหนดเป็นหนึ่งเงื่อนไขในกระบวนการสรรหาก่อนจะแต่งตั้งเป็นผู้บริหาร กรรมการ หรือที่ปรึกษา เพื่อระบุสิ่งที่อาจจะเป็นประเด็นที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งตามข้อ 2 ต้องปฏิบัติทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบของบริษัท
- กำหนดให้มีการเปิดเผยรายนาม และประวัติบุคคลที่เคยเป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ/พนักงานของรัฐที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งผู้บริหาร กรรมการ หรือที่ปรึกษา โดยระบุเหตุผลของการแต่งตั้งบุคคลนั้นในรายงานประจำปีของบริษัท
6.9 การขัดแย้งทางผลประโยชน์
การขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) หมายถึง การกระทำใด ๆ ที่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทจะทำให้ตนมีส่วนได้เสีย หรือขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท ไม่ว่าจะเกิดจากการติดต่อกับผู้ที่เกี่ยวข้องทางการค้าของบริษัท หรือจากการใช้โอกาสหรือข้อมูลที่ได้รับรู้จากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานในการหาประโยชน์ส่วนตนและการทำธุรกิจอันมีสภาพอย่างเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัท หรือการทำงานอื่นนอกเหนือจากงานของบริษัท ซึ่งส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตน และส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่ง ไอเอฟเอส มีนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เปิดเผยในจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท
บริษัทจะนำนโยบายฉบับนี้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารงานบุคลากรของบริษัท ซึ่งรวมถึงการสรรหา การฝึกอบรม การประเมินผลงาน การให้ค่าตอบแทนและการเลื่อนตำแหน่ง
บริษัทจะดำเนินการลงโทษทางวินัยแก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่ฝ่าฝืนการปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้รวมถึงผู้บังคับบัญชาโดยตรงที่เพิกเฉยต่อการกระทำผิดหรือรับทราบว่ามีการกระทำผิดแต่ไม่ดำเนินการจัดการให้ถูกต้อง ซึ่งมีบทลงโทษทางวินัยจนถึงขั้นให้ออกจากงาน และ/หรือ พ้นตำแหน่ง และ/หรือ ตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การไม่ได้รับรู้ถึงนโยบายฉบับนี้ และ/หรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้ได้
กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ต้องเข้าใจและปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันฉบับนี้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของบริษัท ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป