การจัดการความยั่งยืนบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ
การกำกับดูแลกิจการเป็นองค์ประกอบสำคัญด้านหนึ่งของการพัฒนาความยั่งยืน บริษัทได้กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ ประกอบด้วยคณะกรรมการ ฝ่ายบริหาร และหน่วยงานภายในองค์กรที่มีความเหมาะสมกับขนาดของธุรกิจ เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรมีความเชื่อมั่นต่อองค์กร และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้เจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สามารถสร้างผลตอบแทนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น ดังนั้น ปัจจัยสำคัญในการจัดการความยั่งยืนด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจมีดังต่อไปนี้
การบริหารความเสี่ยง
บริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร โดยมีการกำหนดประเด็นความเสี่ยงในประเด็นต่างๆ การประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ความน่าจะเป็นในการเกิดเหตุการณ์นั้นๆ ตลอดจนให้มีการทบทวนและปรับปรุงประเด็นความเสี่ยงเมื่อมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น เพื่อจัดลำดับความสำคัญและวางแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงในประเด็นต่างๆ ดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดให้ฝ่ายบริหารได้รายงานผลการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเป็นรายไตรมาส เพื่อทบทวนติดตามและประเมินผลการจัดการบริหารความเสี่ยงในประเด็นความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น บริษัทยังได้ทบทวนเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าและลูกหนี้การค้ารายใหญ่ (ผู้ซื้อ) ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งเพิ่มเกณฑ์โดยให้พิจารณาควบคู่กับกลยุทธ์และผลกำไรที่เกิดขึ้นทั้งปีของบริษัทด้วย เพื่อจัดการความเสี่ยงในแนวทางที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีหน่วยงานตรวจสอบภายในจากบริษัท เอเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนล คอนซัลติ้ง จำกัด ทำหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานของฝ่ายต่างๆ ของบริษัทตามที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้มั่นใจในระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ตลอดจนให้มีการดำเนินงานให้เป็นไปตามคู่มือการปฏิบัติงานของฝ่ายต่างๆ และรายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
การพัฒนาเชิงดิจิทัล
บริษัทตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับตัวให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก โดยสำรวจและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบายมากขึ้น บริษัทจึงมุ่งเน้นการทำธุรกิจผ่าน Digital Factoring Platform เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นและสะดวกยิ่งขึ้น โดย SMEs สามารถใช้ใบแจ้งหนี้ดิจิทัลในการขอรับเงินทุน ซึ่งจะช่วยให้ได้รับเงินทุนที่จำเป็นอย่างรวดเร็ว
การกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณธุรกิจ
บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการ โดยกำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการเพื่อนำไปใช้ในการกำกับดูแลกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมายและทิศทางขององค์กรที่กำหนดไว้ รวมถึงจรรยาบรรณธุรกิจที่ครอบคลุมถึงนโยบายต่างๆ ของบริษัท เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เช่น นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน นโยบายป้องกันการทุจริต นโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นต้น รวมทั้งมีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน การแจ้งเบาะแส และมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส นอกจากนี้ บริษัทให้ความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูล ความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าที่มีการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูล โดยจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Officer: DPO) ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาข้อมูลส่วนบุคคลในส่วนที่ตนดูแลรับผิดชอบขององค์กรและทำหน้าที่ตามกรอบการดำเนินงานที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act. B.E. 2562) ทั้งนี้ บริษัทได้จัดทำและเปิดเผยนโยบายความเป็นส่วนตัวสำหรับลูกค้าองค์กรและแนวปฏิบัติไว้บนเว็บไซต์ของบริษัท นโยบายความเป็นส่วนตัว