บริษัทยังคงยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนรวมในการดูแลสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าบริษัทประกอบธุรกิจการให้บริการด้านการเงินก็ต้องใส่ใจกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และหาแนวทางในการป้องกันแก้ปัญหาเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ซึ่งประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การใช้พลังงาน การใช้น้ำ การสร้างขยะ ของเสียและมลพิษ รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ บริษัทได้จัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัย ชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานตระหนักถึงหน้าที่และความผิดชอบ รวมถึงความร่วมมือกันในการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว ซึ่งสามารถดูรายละเอียดของนโยบายดังกล่าวบนเว็บไซต์ www.ifscapthai.com หัวข้อ “การกำกับดูแลกิจการที่ดี”

ไฟล์ดาวน์โหลด

นโยบายความปลอดภัย สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม
ดาวน์โหลด

บริษัทมีการดำเนินงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

กำหนดแนวทางการพิจารณาสินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง ถูกกฎหมาย และสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
เพิ่มรูปแบบบริการ e-Factoring ที่มีความสะดวกรวดเร็วในการส่งเอกสารเพื่อขอสินเชื่อสำหรับลูกค้า
ส่งเสริมการประชุมออนไลน์ที่นำมาใช้เต็มรูปแบบทั้งภายในและภายนอกองค์กร ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการ การประชุมผู้บริหาร การประชุมผู้ถือหุ้น และการประชุมเพื่อสื่อสารกับพนักงาน
ส่งเสริมให้มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการดำเนินงาน โดยเริ่มดำเนินการโครงการซันไรส์ (Sunrise Project) เป็นการพัฒนาและปรับปรุงโปรแกรม JFactor ซึ่งเป็นโปรแกรมหลักที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและรวมศูนย์ข้อมูล อีกทั้งยังช่วยลดการใช้กระดาษจากงานพิมพ์
การรณรงค์ให้ประหยัดพลังงานไฟฟ้าทางอ้อม เช่น การใช้หลอด LED เพื่อประหยัดพลังงาน การใช้ระบบประชุมทางไกล (VDO Conference) และรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด รวมถึงอุปกรณ์สำนักงานอย่างคุ้มค่า
สนับสนุนให้มีการเลือกใช้และสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ร่วมมือกับนิติบุคคลอาคารชุดในการจัดการของเสียแยกตามประเภทของเสียตามที่กฎหมายกำหนด แยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อให้สามารถนำกลับไปใช้ซ้ำ (Recycle)
กำหนดแผนงานการบริหารจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) โดยจะพิจารณาจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน ทรัพยากร รวมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่จะส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยรวม

ผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม

บริษัทมุ่งมั่นในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร จึงได้ดําเนินการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้าง การรับรู้ให้พนักงานตระหนักถึงความสําคัญของการจัดการ สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับในกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ดังนี้

การใช้ไฟฟ้า

ในปี 2566 บริษัทได้มีการรณรงค์ให้พนักงานช่วยกันประหยัดไฟฟ้า โดยเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และมีการสื่อสารให้พนักงานรับทราบและปฏิบัติเป็นประจำ เช่น

  • กำหนดช่วงเวลาการเปิดและปิดเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่เวลา 12.00 - 13.00 น. และกำหนดตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส
  • ปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ในเวลาที่พนักงานไม่ได้ใช้งาน เช่น ช่วงพักกลางวัน
  • ปิดไฟทุกดวงที่ไม่ได้ใช้งาน และถอดปลั๊กไฟอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานทั้งในเวลาทำการ และหลังเวลาทำการ
  • การใช้หลอดไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบริเวณสำนักงานที่ได้รับมาตรฐาน มีฉลากประหยัดไฟ ตลอดจนการตรวจสภาพและซ่อมบำรุงให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
ปริมาณการใช้ไฟฟ้า (กิโลวัตต์-ชั่วโมง)
2565 2566 เปลี่ยนแปลง (%)
194,687 212,576 9.2%

ในปี 2566 บริษัทมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 9 เนื่องจากบริษัทได้ยกเลิกการ Work From Home และให้พนักงานทุกแผนกกลับเข้ามาทำงานที่สำนักงานอย่างเต็มรูปแบบภายหลังการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าหมายระยะยาวเพื่อที่จะลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงร้อยละ 3 ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มดำเนินการในปี 2567 เป็นปีแรก

การใช้น้ำมันเชื้อเพลง

บริษัทมีรถยนต์ส่วนกลางสำหรับให้พนักงานใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทจำนวน 9 คัน โดยในปี 2566 ได้เริ่มประชาสัมพันธ์ให้พนักงานวางแผนการเดินทางในการทำงานนอกสถานที่ เพื่อประหยัดเวลาและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลง เช่น สนับสนุนการใช้บริการการขนส่งสาธารณะเมื่อมีการนัดหมายกับลูกค้าในระยะทางใกล้ อาทิ รถไฟฟ้า แท็กซี่ และรถยนต์ไฟฟ้า

ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (ลิตร)
2565 2566 เปลี่ยนแปลง (%)
16,163 16,926 4.7%

ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าหมายระยะยาวเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นศูนย์ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยเปลี่ยนรถยนต์ส่วนกลางของบริษัทให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดจำนวน 9 คัน ภายในปี 2571 เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และส่งเสริมมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร

การจัดการน้ำ

บริษัทได้รณรงค์ให้พนักงานใช้น้ำประปาอย่างคุ้มค่าและประหยัดมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อมูลการใช้น้ำ ดังนี้

ปริมาณการใช้น้ำประปา (ลูกบาศก์เมตร)
2565 2566 เปลี่ยนแปลง (%)
427 479 12.2%

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการตั้งเป้าหมายระยะยาวเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำประปาลงร้อยละ 3 ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มดำเนินการในปี 2567 เป็นปีแรก

การลดการใช้กระดาษ

บริษัทได้สื่อสารให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการลดใช้กระดาษ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในบริษัทแล้ว ยังเป็นการลดการใช้วัสดุธรรมชาติและพลังงานที่ใช้ในการผลิตกระดาษอีกทางหนึ่ง โดยบริษัทได้ดำเนินการเปิดใช้งานระบบ E-Factoring เพื่อลดขั้นตอนการยื่นเอกสารในรูปแบบกระดาษ ทำให้ลูกค้าสามารถยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์ที่มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และเปลี่ยนขั้นตอนในการจัดเก็บเอกสารต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบของไฟล์ดิจิทัลมากขึ้น อีกทั้งยังเปลี่ยนช่องทางในการส่งเอกสารให้เป็นการส่งผ่าน E-mail แทน และมีการใช้ระบบการทำงานด้วย การแชร์ไฟล์ หรือแบ่งปันการเข้าถึงไฟล์งาน เพื่อการแก้ไขงานผ่านทางหน้าจอได้ทันที ซึ่งช่วยลดการทำงานในรูปแบบกระดาษลงได้เป็นจำนวนมาก

ปริมาณการใช้กระดาษ (รีม)
2565 2566 เปลี่ยนแปลง (%)
865 955 10.4%

ในปี 2566 มีปริมาณการใช้กระดาษเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 เนื่องจากบริษัทได้ยกเลิกการ Work From Home และให้พนักงานทุกแผนกกลับเข้ามาทำงานที่สำนักงานอย่างเต็มรูปแบบภายหลังการแพร่ระบาดของ Covid-19 จึงทำให้ในแต่ละแผนกมีการผลิตเอกสารต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าหมายระยะยาวเพื่อลดปริมาณการใช้กระดาษลงร้อยละ 3 ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มดำเนินการในปี 2567 เป็นปีแรก

การจัดการขยะ

“ขยะ” เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีผลต่อสุขภาพอนามัย ซึ่งบริษัทตระหนักถึงการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมาโดยตลอด สำหรับภายในองค์กร บริษัทได้เริ่มมีการจัดเก็บข้อมูลปริมาณขยะตั้งแต่ปี 2566 โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้พนักงานทราบผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการช่วยลดปริมาณขยะในองค์กร โดยในปี 2566 บริษัทเก็บข้อมูลปริมาณขยะรวมจำนวน 3,892 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ตั้งเป้าหมายระยะยาวเพื่อที่จะลดปริมาณขยะในองค์กรลงร้อยละ 3 ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มดำเนินการในปี 2567 เป็นปีแรก

นอกจากนี้ ในปี 2566 บริษัทได้จัดกิจกรรม CSR ภายใต้โครงการ “ขยะปันสุข” (“โครงการฯ”) มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวก่อน กล่าวคือการลดปริมาณขยะภายในองค์กรโดยวิธีการคัดแยกขยะ เช่น ขวดน้ำพลาสติก แก้ว กระป๋องโลหะ เป็นต้น ผ่านโครงการฯ แล้วนำส่งต่อให้หน่วยงานรับซื้อและจัดการของเสียเพื่อนำไปใช้ซ้ำ (Recycle) ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ได้รับภายหลังจากโครงการเสร็จสิ้นคือ สามารถลดปริมาณขยะลงได้ และเหลือปริมาณขยะจริงที่จำเป็นต้องกำจัดหรือทำลายน้อยลง ซึ่งช่วยลดภาระของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บขยะมูลฝอยได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งช่วยให้สภาพแวดล้อมโดยรวมดีขึ้น

โครงการ CSR Go Green

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566 บริษัทจัดกิจกรรม CSR ภายใต้โครงการ “CSR Go Green” ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า เขาน้ำพุ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จ. กาญจนบุรี ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการร่วมกันสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม “ยิงเมล็ดพันธุ์พืชกลับสู่ป่าและสร้างโป่งเทียมเพิ่มแหล่งอาหารสัตว์ป่า” โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้

การที่ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม CSR ครั้งนี้ แม้จะเป็นส่วนเล็กๆ ของสังคม ทุกคนก็มุ่งมั่นในการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่กับธรรมชาติตลอดไป